เมื่อเดินไปบนท้องถนนของเม็กซิโกซิตี คุณจะได้เห็นแถวร้านค้ามากมายที่รายเรียงไปด้วยหน้ากากสีสันสดใส หน้ากากเหล่านั้นคือหน้ากากของ Luchadores ชื่อที่ใช้เรียกนักมวยปล้ำชาวเม็กซิกันผู้แสดงท่วงท่ากายกรรมพร้อมท่าทีสุดแสนจะดราม่า กีฬานี้มีชื่อว่า Lucha Libre หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Lucha และมันก็ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมของละตินอเมริกา 

ดังนั้นเมื่อ Worlds จะมาเยือนละตินอเมริกาเป็นครั้งแรก Rioter ของเราในสำนักงานเม็กซิโกซิตีจึงมีคำถามที่ต้องตอบให้ได้: ว่าเราจะต้อนรับ Worlds สู่เม็กซิโกในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของเราได้อย่างไร? 

และ Lucha ก็คือคำตอบนั้น 

“เราอยากที่จะนำเสนอสิ่งที่แสดงออกได้ถึงตัวตนของเม็กซิโกซิตี บางสิ่งที่เป็นทั้งเอกลักษณ์และคงไว้ซึ่งกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่น” Santiago Duran ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโสประจำ Riot Games ละตินอเมริกากล่าว “แต่เราก็ยังอยากให้มันเป็นสิ่งที่ไม่ซ้ำซากจำเจอีกด้วย เราจึงลองทดสอบแนวคิดมากมายจนสุดท้ายใครบางคนในทีมก็พูดขึ้นมาว่า ‘ทำไมเราไม่ทำ Mascaras De Lucha หรือหน้ากากมวยปล้ำขึ้นมาล่ะ?’”

ดังนั้นทางทีมเลยเริ่มสร้างหน้ากากหลากหลายรูปแบบขึ้นมา พวกเขาได้ทำการติดต่อไปยังครอบครัวซึ่งรับหน้าที่ผลิตหน้ากากนักมวยปล้ำทั่วทั้งเม็กซิโกมาหลายชั่วอายุคนเพื่อให้สร้างหน้ากากคุณภาพสูงในธีมของ Worlds ออกมา 

 

riot-games-worlds-2022-mexico-city-lucha-mask

 

“สุดท้ายเราก็ได้ออกมาเป็นหน้ากาก 4 เวอร์ชัน ซึ่งสรรสร้างโดยตรงจากช่างฝีมือท้องถิ่น” Santiago กล่าว “พวกมันทำขึ้นจากมือ ถึกทน และก็คุณภาพสูงสุด ๆ ใช้เป็นหน้ากากมวยปล้ำจริง ๆ สำหรับขึ้นปล้ำได้เลยล่ะ แถมยังมีองค์ประกอบของความเป็นหน้ากากกาล่าด้วย หรือก็คือหน้ากากสำหรับงานอีเวนต์พรมแดงต่าง ๆ นอกจากนั้นเราก็ยังได้สร้างเวอร์ชันแบบละเอียดน้อยลงขึ้นมา เพื่อให้ทุก ๆ คนที่เข้าร่วม Worlds สามารถได้รับหน้ากากติดกลับมือไปกันทุกคน”

หน้ากากที่เต็มไปด้วยความประณีตนี้จะทำหน้าที่คอยส่องแสงสว่างต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทุกคนในสนาม Artz Pedregal ในเม็กซิโกซิตี เมื่อประตูงานเปิด แถวต่อคิวรับหน้ากากก็เริ่มก่อตัว และแฟน ๆ หลายคนก็เลือกใส่มันไปตลอดทั้งวัน

หน้ากากเหล่านี้ล้วนถูกประดับประดาด้วยคำสโลแกนที่เป็นดั่งตัวแทนของเมืองและอีเวนต์ประจำปีนี้ มีคำว่า Mexico City อยู่กลางหน้าผาก คำว่า CDMX ซึ่งย่อมาจาก Ciudad de México อยู่ข้างแก้มขวา คำว่า Play-Ins อยู่ที่แก้มซ้าย และสุดท้ายจบด้วยสโลแกนประจำ World 2022 อย่าง “The One and Only” สลักไว้ใต้คาง 

“เราเคยแกล้งหยอกกันว่างั้นอย่างนี้ชื่อนักมวยปล้ำประจำ Worlds ของเราก็ควรจะเป็น ‘El One and Only สิ’ Mariano Vives ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ประจำ Riot Games ละตินอเมริกากล่าว “Lucha คือเอกลักษณ์ของเมืองของเรา และการได้เป็นนักสู้สวมหน้ากากในเวทีก็ถือเป็นอะไรที่สำคัญเป็นอย่างมาก”

 

riot-games-worlds-2022-mexico-city-play-ins

 

หากมองแค่ผิวเผิน มันอาจจะดูเหมือนว่าระหว่างนักแสดงที่กระโดดลงมาจากเชือกชั้นบนเพื่อกระแทกคู่ต่อสู้ให้กระเด็นกับการต่อสู้ใน Rift นั้นไม่ค่อยมีอะไรคล้ายคลึงกันสักเท่าไหร่ แต่หากคุณมองลึกลงไป คุณก็จะเริ่มเห็นความคล้ายกันนั้น และก็ไม่ใช่แค่เพราะลูกเตะของ Lee Sin มันเหมาะเจาะพอดีก็เท่านั้นนะ 

“มวยปล้ำของเม็กซิโกไม่มีผลเสมอ” Santiago อธิบาย “แบบเดียวกับใน League ที่จะต้องมีผู้ชนะเสมอ ดังนั้นสโลแกน ‘The One and Only’ จึงเหมาะเจาะอย่างมากกับ Lucha เพราะมันคือการนำเสนอการเผชิญหน้า การต่อสู้ และในท้ายที่สุด มันต้องมีผู้ชนะ” 

และนั่นก็ไม่ใช่ความคล้ายคลึงเดียวนะ แบบเดียวกับ Worlds หลายครั้งแมตช์ต่อสู้หลายแมตช์ของ Lucha ก็จะนำเสนอเนื้อเรื่องในระดับสากลโดยการให้นักมวยปล้ำจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศละตินอเมริกาอื่น ๆ ได้ขึ้นสู่เวทีเพื่อเผชิญหน้ากับนักมวยปล้ำในเม็กซิโก 

ใน League ก็มีเนื้อเรื่องทั้งในและนอก Rift ให้ได้ติดตามผ่านแมตช์การแข่งขันและการเล่าเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่การได้ First Blood จังหวะแรกที่มังกรเกิด การยื้อแย่ง Baron ไปจนถึงทีมไฟต์ตัดสิน 

“Lucha มีเรื่องราวเสมอ” Mariano กล่าว “ไม่ว่าจะโดนเตะตูดเละ หรือเป็นฝ่ายเตะตูดเสียเอง มันก็เหมือนกับการเต้นระบำ เป็นทั้งการแสดงและการเล่าเรื่องราวไปพร้อมกัน และทุกอย่างก็จะถูกปูมาเพื่อช่วงเวลาสุดตื่นเต้นที่คุณจะได้เห็นนักมวยปล้ำกระโดดเหินจนคุณแทบอยากจะลุกกระโดดตาม” 

แม้แต่รูปแบบการแข่งขันของ Lucha ก็ยังคล้ายเคียงกับสิ่งที่แฟน ๆ ได้รับชมในรอบ Play-In ของ League of Legends ในสนาม Artz Pedregal เพราะคล้ายเคียงกับลีกการแข่งขันต่อสู้ระดับมืออาชีพอื่น ๆ อย่างสนามมวยหรือ UFC ในค่ำคืนหนึ่งของ Lucha จะประกอบด้วยแมตช์การแข่งขันอันหลากหลาย 5 ถึง 10 แมตช์ภายในค่ำคืนเดียว เช่นเดียวกับวันแรก ๆ ของ Worlds ที่มีการแข่งขันถึงวันละ 8 เกม เคียงคู่ไปกับทีมใหม่ ๆ ที่รอขึ้นเวทีมาพร้อมเนื้อเรื่องประจำทีมของตน 

แต่สิ่งที่คล้ายกันมากที่สุดเลยก็คือการแสดงโชว์ 

“เราตั้งเป้าที่จะแสดงโชว์ออกมาเสมอในขณะที่คุณรับชมการแข่งขันสด ๆ ของเราอย่าง Worlds” Santiago กล่าว “แน่นอนว่ามันก็เกิดขึ้นในกีฬาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แต่วิธีที่เราเลือกใช้หน้าจอและแสงสี วิธีที่เราเลือกนำเสนอเกมการแข่งขัน League of Legends เหล่านี้ มันช่างคล้ายคลึงกับการแสดงและความบันเทิงที่ได้รับจากมวยปล้ำเสียจริง” 

เอาล่ะ แต่ก็มีข้อแตกต่างใหญ่อยู่ ถึงแม้ผู้เล่นและ Rioter ทุกคนจะชอบหยอกล้อกันว่า Worlds มีการจัดฉากมากแค่ไหน แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าทีมใดกันที่จะได้ชูถ้วยซัมมอนเนอร์ใน Chase Center ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ กลับกัน ถึงแม้จะมีการด้นสดกันไปมาอยู่บ้างในสังเวียนของนักมวยปล้ำ แต่ยังไงมันก็ยังมีบทวางไว้แล้วเพื่อนำพาไปสู่ผลลัพธ์ในซีซั่นนั้น ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ประสบการณ์การรับชม Lucha เพลิดเพลินน้อยลงเลย เพราะแฟน ๆ หลายล้านคนก็ยังเข้าชมเต็มสนาม ดูผ่านโทรทัศน์ หรือเฉลิมฉลองให้นักมวยปล้ำโปรดของเขาอยู่ทุกวัน 

ประวัติของ Lucha Libre ในเม็กซิโก

นักมวยปล้ำชาวเม็กซิกันคนแรกที่ถูกบันทึกไว้คือ Enrique Ugartechea ในปี 1863 ผู้พัฒนากีฬานี้ขึ้นมาจากมวยปล้ำดั้งเดิมของกรีกโรมันในช่วงการรุกรานเม็กซิโกโดยฝรั่งเศส กีฬานี้เริ่มเป็นที่นิยมในช่วงปี 1900 แต่มาฮิตระเบิดก็เมื่อ Salvador Lutteroth ได้จัดตั้ง Empresa Mexicana de Lucha Libre (องค์กรนักมวยปล้ำเม็กซิกัน) ขึ้นมาในปี 1933

และเมื่อโทรทัศน์เข้ามามีบทบาท Lucha ก็ยิ่งเติบโตพุ่งทะยาน หลังจากนั้นไม่นาน Lucha ก็กำเนิดดาวดังคนแรกขึ้นมาในชื่อ El Santo (The Saint) Rodolfo Guzmán Huerta ผู้เกิดในรัฐอิดัลโก เม็กซิโก คือนักมวยปล้ำแต่กำเนิด ในปี 1942 เขาเปิดตัวในฐานะ El Santo ด้วยการชนะ Battle Royale แบบแปดคนในเม็กซิโกซิตี ด้วยหน้ากากสีเงินอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่นาน El Santo ก็กลายเป็นนักมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเม็กซิโก 

ในปี 1950 El Santo ก็พาหน้ากากเงินของเขาเข้าสู่จอเงิน งานแสดงแรกของเขาเริ่มจาก Cerebro Del Mar (Brain of Evil) และจากนั้นเขาก็ได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์กว่า 50 เรื่อง ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบุคคลด้านบันเทิงที่มีชื่อเสียงที่สุดของละตินอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 20 ไปโดยปริยาย 

“El Santo คือภาพจำที่ไม่อาจลบได้ของ Lucha Libre” Mariano กล่าว “ไม่ใช่แค่เพราะหน้ากากสีเงินของเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปร่างของเขาและวิธีที่เขาเคลื่อนไหว เขามีชื่อเสียงมากเสียจนเขาได้สร้างภาพยนตร์และก็ทำให้หน้ากากกาล่าซึ่งทำขึ้นจากวัสดุแวววับคุณภาพพรีเมียมถึงกับฮิตติดลมบน ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะนำเสนอสิ่งนั้นในหน้ากากของ Worlds เพราะหน้ากากเหล่านี้คือตัวแทนของความสง่าและ Worlds ก็คืออีเวนต์ที่เต็มไปด้วยความสง่างามและ El Santo ก็คือส่วนสำคัญในการพาความสง่านั้นมาสู่ Lucha”

 
riot-games-worlds-2022-lucha-libre-mexico-city

 

El Santo คือผู้ริเริ่มตำนานของนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ได้แสดงศักยภาพในการแสดง สร้างฐานแฟนขนาดใหญ่ ไปจนถึงการสร้างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในยุคปัจจุบัน นักมวยปล้ำก็ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย หลายคนมาจากตระกูลนักมวยปล้ำที่ส่งต่อเวทีให้กับลูกหลานเรื่อยมา หนึ่งในตัวอย่างเด่นชัดเลยก็คือตระกูล Guerrero

Gory Guerrero เริ่มอาชีพนักมวยปล้ำของเขาพร้อมกับ El Santo ในเม็กซิโกซิตีในปี 1940 จากนั้นลูกชายทั้งสี่คนของเขา Chavo, Eddie, Mando และ Hector ก็ขึ้นเวทีสานต่อเรื่อยมา ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงรุ่นที่สามของตระกูล Guerrero อย่างลูกสาวของ Eddie - Shaul และลูกชายของ Chavo - Chavo Jr ที่เป็นนักมวยปล้ำอาชีพอยู่ในขณะนี้ 

และทั้งหมดนั่นยังไม่ได้พูดถึงประวัติของตัวหน้ากากเลยนะ แม้ว่าประวัติศาสตร์ของมวยปล้ำจะเพิ่งมาเริ่มก่อร่างในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่ประวัติศาสตร์ของหน้ากาก Lucha Libre นั้นว่ากันว่าสามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคของชาวมายันและแอซเท็ก ที่พวกเขาจะวาดสีลงบนหน้าก่อนที่จะออกไปต่อสู้ เมื่อนักมวยปล้ำขึ้นสู่เวที หน้ากากสีสันสดใสนี้ก็คือการเลียนแบบสีบนใบหน้าของนักรบชนเผ่าโบราณเหล่านั้น 

และจนถึงทุกวันนี้ หน้ากากเหล่านั้นก็ยังคงเป็นหัวใจหลักของ Lucha Libre

“หน้ากากช่วยปกป้องตัวตนของนักมวยปล้ำ” Mariano กล่าว “การถูกถอดหน้ากากใน Lucha คือสิ่งน่าอับอายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้กับนักมวยปล้ำสวมหน้ากาก ที่จริงแล้วพวกเขามีศึกที่เดิมพันหน้ากากแทนที่ตำแหน่งแชมป์ด้วย และถือว่าเป็นเดิมพันที่สูงยิ่งกว่าด้วยซ้ำ”

จากเม็กซิโกไปจนถึงละตินอเมริกาและไปสู่โลก

ในช่วงหลายต่อหลายปี Lucha ก็ยังคงเติบโตต่อไป ในสหรัฐอเมริกา สมาคม WWE เองก็นำท่ามวยปล้ำยอดฮิตมากมายที่ถือกำเนิดจาก Lucha Libre ไปปรับใช้ และภายในละตินอเมริกา Lucha ก็ถือเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป 

“ผมมาจากโคลอมเบียและ Lucha ก็ฮิตสุด ๆ ที่นั่นเหมือนกัน” Santiago กล่าว “คุณเห็นมันได้ทุกที่ ตั้งแต่ในเมืองใหญ่ ไปจนถึงเมืองเล็ก ๆ พวกเขามักจะจัดงานแสดงและก็จะมีนักมวยปล้ำหกคนขึ้นโชว์ มันอาจจะเรียกเต็มปากไม่ได้ว่าได้รับความนิยมขนาดนั้นในโคลอมเบียเมื่อเทียบกับเม็กซิโกที่มีโชว์ขนาดใหญ่ในทุกสุดสัปดาห์ แต่มันก็ยังถือว่าได้รับความนิยมอยู่ดี และแบบเดียวกับที่วงการภาพยนตร์ของเม็กซิโกได้รู้จัก El Santo พวกเราก็ได้รู้จัก Blue Demon ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำชื่อดังอีกคนที่มีผลงานออกมาให้ได้รับชม”

สำหรับ League of Legends ก็เช่นกัน เพราะเม็กซิโกเองก็เป็นศูนย์กลางของลีก Liga Latinoamérica แต่ผู้เล่นที่อยู่ในลีก และแฟน ๆ ที่รับชมก็ล้วนมาจากทุก ๆ มุมของละตินอเมริกา

“League of Legends มีฐานแฟนที่แน่นหนาสุด ๆ ในละตินอเมริกา” Santiago กล่าว “เราจึงพยายามลงแรงมากขึ้นเพื่อผู้เล่นทุกคนในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่การแปลภาษาเป็นภาษาสเปน มีเสียงพากย์ของตัวเอง และทำให้มั่นใจว่าจะตอบรับผู้เล่นละตินอเมริกาได้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราต่างจากสตูดิโออื่น ๆ 

“แต่เราก็ยังไม่เคยจัด Worlds” เขาพูดต่อ “ไม่เหมือนกับสหรัฐอเมริกา เอเชีย หรือยุโรป ดังนั้นสิ่งนี้ ทั้งสำหรับพวกเรา Rioter และคอมมูนิตี้นั้นจึงเป็นสิ่งที่พิเศษมาก มันเหมือนกับว่าฝันเป็นจริง และแฟน ๆ เองก็ตอบรับด้วยพลังงานเปี่ยมล้น และความหลงใหลที่มากล้นยิ่งกว่า การนำพา Worlds มาที่นี่มีความหมายมากกว่าที่คุณคิดสำหรับแฟน ๆ ชาวละตินอเมริกา”

ไม่ว่าจะเป็นในสนามมวยปล้ำ Lucha Libre หรือในเก้าอี้รับชมของ Artz Pedregal คุณก็สามารถวางใจแฟน ๆ ในเม็กซิโกซิตีแห่งนี้รวมถึงทั่วทั้งละตินอเมริกาได้เลยว่า พวกเขาจะนำพาพลังงาน ความกระตือรือร้น และความรักมาสู่กีฬานี้ได้แบบทะลุ 110%

แม้ว่าตอนนี้ Worlds จะกำลังเดินหน้าไปรอบแบ่งกลุ่มที่นิวยอร์ก แต่ก็ไม่มีใครคิดสงสัยเลยว่าทางทีมในเม็กซิโกซิตี และแฟน ๆ ในละตินอเมริกานั้นเพลิดเพลินไปกับทริปครั้งแรกของ Worlds ในภูมิภาคนี้มากแค่ไหน หากมีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาอยากได้ล่ะก็ นั่นก็คือ: พวกเขาอยากได้อีก อยากได้อีสปอร์ต อยากได้การแข่งขัน และโอกาสในการแสดงความหลงใหลสำหรับ League of Legends มากกว่านี้ 


อย่าลืมติดตามทุกการเคลื่อนไหวของ Worlds ได้ที่ lolesports.com เพื่อรับรู้กำหนดการล่าสุด การถ่ายทอดสด และอันดับคะแนนปัจจุบันในขณะที่ทีมที่ดีที่สุดในโลกของ League of Legends เดินทางจากเม็กซิโกซิตีไปยังนิวยอร์ก มุ่งสู่แอตแลนตา และไปจบกันที่ซานฟรานซิสโกที่ซึ่งหนึ่งทีมจะได้ฉายา “One and Only” ไปครองในท้ายที่สุด