ก่อนที่ Maria Pentinen จะย้ายมาทำงานที่ไอร์แลนด์ ก่อนที่เธอจะได้รับตำแหน่งในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Paypal และก่อนที่เธอจะเปิดเผยรสนิยมทางเพศ เธอก็เคยเป็นเด็กน้อยเกมเมอร์ที่นั่งเล่นเกมคอนโซลกับพ่อและเล่นเกมอย่าง WoW กับกิลด์ของเธอ 

“ฉันเล่นวิดีเกมมาตลอดชีวิต จำไม่ได้เลยว่าเคยมีช่วงที่เลิกเล่นไป” Maria ผู้ที่ตอนนี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายประสบการณ์ผู้เล่นของ Riot ภายในออฟฟิศดับลินกล่าว “พ่อของฉันต้องเดินทางทำงานบ่อย แต่เมื่อไหร่ที่เขากลับมาบ้าน เขาก็จะเล่นวิดีโอเกมเป็นประจำ ฉันจำวันที่ได้เล่นเกมกับเขา กับสมาชิกครอบครัว รวมถึงเพื่อน ๆ ได้เป็นอย่างดี ฉันเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม ดังนั้นฉันจึงไม่ออกไปข้างนอกและเลือกที่จะอยู่ในบ้านเล่นเกมแทน” 

ก็เหมือนกับเกมเมอร์หลาย ๆ คนที่โตมาในยุค 2000 มีเกม ๆ หนึ่งที่ได้กลายเป็นดั่งบ้านหลังที่สองของ Maria นั่นก็คือ World of Warcraft ในระดับของมันแล้วนั้น เรียกได้ว่ามันเป็นมากกว่าเกม มันเป็นทั้งคอมมูนิตี้ เส้นทางผจญภัย สถานที่สร้างเพื่อน รวมถึงห้องจัดแสดงตัวตนใด ๆ ก็ตามที่คุณอยากก่อร่างขึ้นมาภายในเกม 

“พูดได้ว่ากิลด์ของฉันคือคนเลี้ยงฉันมาเลยล่ะ” Maria หัวเราะ “ฉันเล่นเกมนี้มาตั้งแต่ยังเด็กและก็ได้สร้างเพื่อนมากมายภายใน WoW คุณอาจคิดว่าวิดีโอเกมจะทำให้ฉันติดแหง่กอยู่ในบ้านนั่งเล่นไม่เลิก แต่กลายเป็นว่าเพื่อน ๆ ที่ฉันได้สร้างในเกมต่างหากที่ทำให้ฉันเริ่มออกเดินทาง เพราะฉันมักจะไปเยี่ยมเพื่อน ๆ ของฉันที่กระจัดกระจายอยู่หลากหลายประเทศ และท้ายที่สุดฉันก็ตัดสินใจเข้ามาทำงานในวงการเกม เพราะฉันมีความตั้งใจที่จะสร้างประสบการณ์ที่จะทำให้คนอื่น ๆ ได้รับความรู้สึกการมีที่พักพิงของตัวเองในแบบที่ฉันเคยเป็น”

 

rainbow-rioters-maria-pentinen-1

 

ในปี 2012 Maria ก็ถูกจ้างโดย Blizzard เธอเก็บข้าวของสัมภาระและย้ายจากเอสโตเนีย ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปตะวันออก ไปสู่ไอร์แลนด์เพื่อรับตำแหน่งใหม่ 

“ตอนที่ฉันย้ายไปไอร์แลนด์ ฉันยังไม่ได้เปิดตัวมากนะ” เธอกล่าว “มันไม่ใช่เพราะองค์กรหรือสถานที่ที่ฉันทำงานอยู่ แต่เป็นเพราะประเทศที่ฉันจากมาต่างหาก เอสโตเนียเป็นประเทศแถบบอลติก แม้ว่าถ้าพูดตามหลักแล้วมันจะไม่ถูกนับว่าเป็นประเทศยุโรปตะวันออก แต่เราก็ประสบปัญหาเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในเรื่องการอคติต่อคนรักเพศเดียวกัน ฉันเจอความอคตินี้มากับตัวที่บ้านเกิด ฉันต้องเสียเพื่อนหลายคนไปในตอนที่ฉันเปิดตัว ซึ่งมันทำให้ฉันปวดใจมาก ดังนั้นตอนที่ฉันย้ายมาที่นี่ ฉันจึงยังไม่สบายใจที่จะแชร์ตัวตนนี้กับใคร” 

ปัญหาที่ชาว LGBTQIA+ ทั่วโลกต้องเจอนั้นมีมากมายก่ายกอง บางประเทศนั้นก็เปิดกว้างในเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล บางประเทศก็มีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันอย่างรุนแรง แต่ยังไงทุกประเทศก็มีคนรักเพศเดียวกัน แค่บางประเทศมีเยอะกว่าก็เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป ทัศนคติของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไปแต่ปัญหานั้นยังคงอยู่ อุตสาหกรรมเกม รวมถึง Riot ด้วย ก็ประสบปัญหาเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี 

“การได้ทำงานในวงการนี้เหมือนฝันวัยเด็กเป็นจริง แต่มันก็มีทั้งประสบการณ์ดีและร้าย” เธอกล่าว “แน่นอนว่าฉันไม่ได้เสียใจ ฉันได้พบคนที่สุดยอดมากมาย แต่ฉันก็ได้เห็นด้านลบของวงการนี้เช่นกัน”

สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่ปี 2012 ทั้งในวงการเกมและสังคมโดยรวม แต่มันยังมีงานให้ทำอีกเยอะเพื่อทำให้โลกนี้เป็นที่ที่ดีขึ้นสำหรับชาว LGBTQIA+ และคอมมูนิตี้ชายขอบอื่น ๆ 

การยอมรับความต่างและการแสดงออกนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อไหร่ที่มันเป็นไปได้ดี มันก็จะรู้สึกได้ 

“ตอนที่ฉันทำงานกับ Apple ฉันก็รับรู้ว่ามันสามารถเปลี่ยนไปได้” Maria กล่าว “คุณสามารถเปิดเผยได้ว่าคุณเป็นใครหรือคู่รักของคุณเป็นใคร ฉันสามารถพูดได้ว่า ‘นี่คือแฟนสาวของฉัน’ โดยที่ผู้คนไม่สะดุ้งตกจากเก้าอี้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฉันถึงอยากทำงานกับพวกเขา เพราะฉันได้ยินมาว่าที่ Apple ความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่พวกเขาลงมือทำจริง ๆ วัฒนธรรมทั้งหมดของพวกเขาเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ และตอนที่ฉันทำงานที่นั่น ฉันก็รู้สึกถึงมันจริง ๆ ฉันได้เป็นเพื่อนกับผู้คนจากทุกเพศ รวมถึงรสนิยมทางเพศที่หลากหลายมากมาย”

 

rainbow-rioters-maria-pentinen-2

 

Maria ทำงานกับ Apple เป็นเวลากว่า 7 ปี เธอได้ร่วมพัฒนากระบวนการต่าง ๆ และนำโครงการมากมายจนได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายช่องทางให้บริการลูกค้า และได้รับรางวัล AppleCare Excellence ในปี 2019 ในฐานะพนักงานดีเด่น ไม่นานก่อนที่จะได้งานใน Riot เธอก็เพิ่งสร้างโครงการระดับโลกให้กับแผนกของเธอจนสำเร็จ และในขณะเดียวกัน เธอก็เห็นและรู้สึกได้ว่า องค์กรหนึ่งจะสามารถยอมรับและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองในที่ทำงานได้อย่างไร 

“มีหลายมิติมากในการที่จะกลายเป็นองค์กรที่หลากหลายและยอมรับความต่าง” Maria กล่าว “อย่างหนึ่งนั้นง่ายมาก นั่นคือการสร้างชมรมและจัดตั้งโครงการ ซึ่งตอนนี้บริษัทส่วนมากก็มีจุดนี้แล้ว สิ่งที่ฉันได้เห็นที่ Apple นั้นเป็นอีกระดับเลย ฉันได้เห็นผู้คนเปลี่ยนแปลงไปเพราะวัฒนธรรม ผู้คนที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับคอมมูนิตี้เลย ผู้คนที่ไม่ได้สนับสนุน และผู้คนที่อาจจะเคยมีอคติ พวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนไปเพราะบรรยากาศการยอมรับของผู้คนรอบข้าง” 

การว่าจ้างภายในคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมหาศาล แต่ท้ายที่สุดแล้ว ในองค์กรที่มีพนักงานหลายพันคน คนส่วนมากก็คงไม่ได้มาจากคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ นั่นคือสาเหตุที่การสนับสนุนจะเข้ามาทำหน้าที่ 

“หลายครั้ง หากคุณมีแค่คอมมูนิตี้เล็ก ๆ ในองค์กร มันก็เหมือนการพูดวนซ้ำอยู่กับคนที่เห็นตรงกันอยู่แล้ว” Maria กล่าวต่อ “แต่ผู้คนที่อยู่นอกคอมมูนิตี้ พวกเขาก็จะไม่รู้เลยถึงตัวตนของโครงการนี้ Apple นั้นค่อนข้างมีความปรับเปลี่ยนง่าย ที่นั่นถูกสร้างมาเพื่อให้ทุก ๆ คนสนับสนุนกันได้ นั่นแหละคือสิ่งที่ต่างไป การได้เห็นผู้คนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้อยากที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน ร่วมพูดคุยถึงปัญหา และไม่กลัวที่จะส่งเสริมผู้คนชาว LGBTQIA+” 

วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ยากจะสร้างครอบคลุมทั้งหมด แต่นั่นคือสิ่งที่วัฒนธรรมองค์กรเป็น และควรจะเป็น การส่งเสริมผู้คนรอบตัว โดยเฉพาะผู้ที่มาจากคอมมูนิตี้ชายขอบ การสนับสนุนผู้อื่น และการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นในรูปแบบที่เปิดกว้างและยอมรับความต่าง วัฒนธรรมนั้นอาจจะเปลี่ยนไปตามแต่ละองค์กร แต่ละออฟฟิศ และแม้แต่แต่ละทีม 

และที่ Riot เราก็มุ่งเน้นเรื่องวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน ปรัชญาของเราในการมุ่งเน้นผู้เล่นมาเป็นอันดับแรกคือสิ่งที่ผลักดันองค์กรของเรามาเป็นเวลากว่าทศวรรษ แต่วัฒนธรรมของเราก็ยังคงเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมไปกับการเรียนรู้ และการเข้ามาของผู้คนใหม่ ๆ อย่าง Maria 

“หลังจากประสบการณ์แรกของฉัน ฉันก็ไม่มั่นใจว่าฉันจะกลับมาทำงานในวงการเกมอีกดีหรือไม่” Maria กล่าว “ฉันค่อนข้างเป็นกังวลที่จะกลับไปพบกับข่าวที่ติดอยู่ในหัวใจ สิ่งที่ฉันได้ยินต่อมา และสิ่งที่ฉันเคยประสบพบเจอมาก่อนหน้านี้ แต่หลังจากฉันได้ฟังจากเพื่อนของฉันว่า Riot นั้นเป็นสถานที่ทำงานที่ดี และถึงแม้จะยังรู้สึกกลัวรู้สึกกังวลอยู่บ้าง แต่ฉันก็ตัดสินใจขอลองอีกสักครั้ง และตอนนี้ฉันก็อยู่ตรงนี้” 

Maria เข้าร่วมกับ Riot ใน เดือนมีนาคม 2022 แม้ว่าเธอเพิ่งจะอยู่ที่นี่ได้ไม่กี่เดือน แต่เธอก็เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมหลายอย่าง 

“สิ่งแรกที่ฉันทำหลังจากเข้ามาทำงานกับ Riot ก็คือการติดต่อหาผู้จัดการฝ่ายความหลากหลายและการยอมรับความต่างเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรม D&I โดยทันที” Maria กล่าว “ตอนที่อีเวนต์ Pride ของเราเริ่มขึ้น ฉันคือหนึ่งในทีมเริ่มต้นที่ช่วยกันประกอบสร้างมันในครั้งนี้ มันรู้สึกยอดเยี่ยมมากที่ได้เชื่อมต่อและทำงานร่วมกับ Rioter คนอื่น ๆ จากหลากหลายออฟฟิศ และฉันก็ชอบที่ฉันสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างง่ายดาย” 

ที่ Riot อีเวนต์ Pride คืออีเวนต์ระดับโลกที่จะให้ออฟฟิศของเราทั่วโลกจัดกิจกรรม จัดสรรทรัพยากร และรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลอง และถึงแม้ปี 2022 จะถือเป็นการเฉลิมฉลอง Pride ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา แต่เราก็ยังมีงานให้ทำอีกมาก

“Riot ยังมีเรื่องที่ต้องทำเกี่ยวกับการสนับสนุน” Maria กล่าว “ผู้คนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ นั้นไม่ได้มองเห็นรับรู้มันมากนัก โดยเฉพาะหากไม่มีใครในทีมของพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรม หรือเป็นสมาชิกของคอมมูนิตี้อยู่แล้ว ฉันรู้สึกว่ามันยังมีโอกาสมากมายในการสร้างการสนับสนุนใหม่ ๆ สำหรับชาว LGBTQIA+ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ”

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรนั้นไม่มีทางเกิดได้ในคืนเดียว เราต้องผลักดันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ดีกว่า แต่มันคือการผลักดันที่จำเป็น และก็ต้องใช้แรงจากทุกออฟฟิศ ทุกทีม และ Rioter ทุก ๆ คนในการทำให้สำเร็จ